การทำนายความฝัน และเคล็ดลับการแก้ฝัน
โดยอาจารย์เฉลิมศักดิ์ รามโกมุท
(อดีตกรมพระตำรวจหลวง)
ความฝัน
ความฝันคงจะเกิดขึ้นพร้อมๆกับการเกิดของมนุษย์ ความฝันจึงถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆต้องประสบ ทั้งจากการได้ฝันเอง ได้รับทราบจากการบอกกล่าวของคนรอบข้าง
ที่มาของความฝันนั้นมีมาอย่างไร ใครเป็นคนฝันก่อนเป็นคนแรกของโลก คงไม่นำมากล่าวถึง เพราะดูจะหาประโชยน์อันใดไม่ได้เลย จะกลายเป็นปัญหาโลกแตกที่ต้องถกเถียงกันไม่รู้จัก เฉกเช่น ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกันนั่นเอง
ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเหตุที่ให้เกิดความฝัน ความรู้สึกของความฝัน เวลาแห่งความฝัน ฝันประจำวัน ความฝันในแง่วิทยาศาสตร์ สีของความฝัน และการทำนายฝัน
เหตุให้เกิดความฝัน
มีหลักฐานทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า มีเหตุให้เกิดความฝันหลายประการ แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายและจำได้ จึงขอยึดหลักที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ 4 ประการ คือ
1 กรรมนิมิต หมายถึง ผลกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนส่งผล ว่ากันตามหลักความจริง กรรมที่เราทำมาทุกอย่าง ไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมรวมอยู่ที่ดวงจิตของคนเรา พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ดวงจิตของเราย่อมรับรู้รับทราบในสิ่งที่ตนกระทำมา ฉะนั้นเมื่อกรรมจะให้ผล ก็ต้องออกมาจากดวงจิตของผู้นั้น บางขณะ ผลกรรมที่ทำนั้นก็แสดงให้เห็นทางความฝัน บางคนอาจเห็นฝันประเภทนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องโกหกพกลมไปโน่น แต่ถ้าศึกษาธรรมะมากๆ จะเข้าใจในเรื่องผลบุญผลกรรมที่กล่าวข้างต้น
2 จิตนิวรณ์ หมายถึง จิตของเราพะวงหรือคำนึงถึงสิ่งใดมากๆ หรือฝังจิตฝังใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป จิตนิวรณ์นี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเอง โดยอาศัยความโลภ โกรธ หลง เป็นมูลเหตุ ยกตัวอย่าง บางคนใฝ่ฝันอยากไปต่างประเทศ ก็จะนึกมโนภาพว่า หน้าตาต่างประเทศจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องมีโน่นมีนี่ที่ดูใหญ่โตหรือก้าวหน้า บางคนถึงกับฝันเห็นเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว หรือลามไปถึง 7 ตัวก็มี
3 เทพสังหรณ์ หมายถึง เทพเจ้า เทวดาอารักษ์ ทั้งที่เป็นมิตรและเป็นศัตรูกับเรา มาดลจิตดลใจให้เราเกิดความฝัน ทั้งๆที่เราอาจจะไม่อยากฝันก็ได้ กรณีเช่นนี้ อาจะมองว่าเป็นความปรารถนาดีของเทวดาอารักษ์ที่มีต่อเราก็ได้ ที่แจ้งเหตุให้เราทราบล่วงหน้าก่อนที่จะมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา บางครั้งอาจตรงกับความฝัน แต่บางครั้งก็อาจเป็นตรงกันข้ามไปเลยก็มี
4 ธาตุกำเริบ หมายถึง คนที่กินอาหารมาก หรือกินอาหารผิดปกติ ผิดความต้องการของร่างกาย ผิดกาลผิดเวลา เปรี้ยวจัด หวานจัด เค็มจัด ร้อนจัด เย็นจัด หรืออาจกินน้อยเกินไป ในที่สุดจึงทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติ ร่างกายเลยเกิดปฎิกิริยา ปวดหัวตัวร้อน นอนไม่ค่อยหลับ พอหลับปุ๊บก็ฝันปั๊บทันที บางครั้งเราหลับไปก่อน อาการป่วยหรือผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว จิตใจเกิดความรู้สึกในลักษณะของความฝัน ความฝันในลักษณะนี้เป็นกันมาก คงจะเข้าทำนอง กินมาก ถ่ายมาก นอนมาก ฝันมาก มากกว่า
ความรู้สึกของผู้ฝัน
ผู้ที่เกิดความฝัน เมื่อตื่นขึ้นมามักจะมีความรู้สึกไม่เหมือนกัน บางคนตื่นจากฝันก็มัวคิดคำนึงเรื่องฝัน คิดอยู่ได้ทั้งวี่ทั้งวัน บางทีจำความฝันบางตอนไม่ได้ ก็พยายามคิดทบทวนอยู่นั่นแหละ คิดจะกระทั่งหลับไปฝันก็ยังมี บางคนตื่นขึ้นมาก็รีบวิ่งหาเพื่อนฝูงให้ช่วยทำนายฝัน บางรายวิ่งโร่ไปหาพระช่วยแก้ความฝัน บางคนถึงกับกลัวความฝัน ต้องเข้าวัดเข้าวา รดน้ำมนต์ก็มี อย่างฝันร้ายก็ต้องรดน้ำมนต์ปัดรังควานต่างๆ ครั้งฝันดีก็ต้องรดน้ำมนต์อีก นัยว่าเป็นการเอาโชคเอาชัย จะได้ลาภสมกับความฝัน
ด้วยเหตุนี้ บางคนพอมีผู้มาขอให้ช่วยทำนายฝัน ก็เลยนึกสนุก โกหกส่งๆไป โดยที่ตนเองก็ไม่มีญาณวิเศษหยั่งรู้สักหน่อย คนฝันถ้าหากถือเป็นจริงเป็นจัง ทำตามเพื่อนแนะนำทุกอย่าง หากทำนายดีก็ดีไป หากเจอเพื่อนสัปดนหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน คนที่หลงเชื่อก็อาจเสียคนไปเลยก็มี ยกตัวอย่าง นอนหลับอยู่ดีๆ เกิดฝันว่าสามีหรือภรรยาของตนเองไปนอนกับหญิงอื่น พอตื่นขึ้นมาก็ไม่สบายใจ รีบวิ่งแจ้นไปหาเพื่อนหรือหมอเดาทำนายฝัย หากเขาผู้นั้นรับฟังเฉยๆ หรือปลอบใจก็แล้วไป หากไปเจอคำทำนายแผลงๆเข้า คงสนุกแน่ สามีเกิดไม่ไว้ใจภรรยา ภรรยาเริ่มจับผิดสามี ชีวิตครอบครัวก็รังแต่จะระหองระแหง กินแหนงแคลงใจกัน บางครั้งอาจถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งทุบตี แล้วหย่าร้างในที่สุด
ผลที่ได้จากความฝัน
ผู้อ่านบางท่านอาจนึกไม่ถึงว่า ฤทธิ์เดชของความฝันนั้นมีมากมายถึงขนาดนี้ ด้วยเหตุที่เรามักไม่ค่อยใส่ใจเหตุเล็กน้อยนี่เอง เราจึงมักประสบความวุ่นวาย เพราะเหตุอันน้อยนิด นับไม่ถ้วนเลยทีเดียว
บางคนมัวเมาอยู่กับความฝัน จนไม่เป็นอันกินอันนอน คอยเวลาที่ลาภในฝันจะมาถึง บ้างก็ฝันร้ายจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องวิ่งรอกรดน้ำมนต์เจ็ดวัดเจ็ดวา จ้างหมอผีมาปัดเป่ารังควาน เสียเงินเสียทองไปมากมาย ดีไม่ดีตกเป็นเหยื่อแก็งค์ต้มตุ๋นก็มี นี่แหละคือผลที่ได้จากฝัน
ลักษณะของความฝัน
ลักษณะของความฝันนั้น เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ อาจแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ
1 ฝันในยามหลับ ฝันในลักษณะนี้ได้กล่าวมาข้างต้นพอสมควร ท่านผู้ใดไม่เคยฝันหรือไม่รู้จักความฝัน ก็ออกจะเกินไป ยกเว้นคนวิกลจริต และคนบ้าเท่านั้นที่ไม่รู้จักความฝัน เพราะคนบ้าฝันแล้ว แต่ไม่รู้หรอกว่าตนเองฝัน อันเนื่องมาจากจิตไม่สมประกอบของผู้ฝัน
2 ฝันในยามตื่น ฝันในลักษณะนี้เป็นเรื่องน่าคิด น่าสนใจมาก ผู้อ่านบางท่านอาจเถียงว่า บ้าไปหรือเปล่า มีที่ไหนคนเราจะฝันในเวลาตื่น มีแน่นอน ก็ประเภทช่างเพ้อช่างฝันอย่างไรเล่า เรามักเรียกฝันแบบนี้ว่า ในฝัน เพ้อฝัน นึกฝัน ฝันกลางวัน ฝันเฟื่อง ฯลฯ อันที่จริงแล้ว มันก็คือความคิด ที่เราคิดถึงอะไรต่อมิอะไรที่ยังมาไม่ถึงนั่นเอง ความฝันลักษณะนี้มีทางเป็นไปได้ ทั้งทางบวกและทางลบ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ฝันจะมีความรู้ความสามารถ ที่จะปฎิบัติตนให้เป็นไปตามที่ตนคิดฝันมากน้อยเพียงใด
ความฝันในลักษณะนี้ อาจตีความได้ว่า ก็คือ ความหวังของมนุษย์นั่นเอง หากคนเราอยู่อย่างไร้ความหวัง ก็ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ความหวังก็คือความปรารถนา ความตั้งใจของมนุษย์ที่จะดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมายที่ตนต้องการ เพียงเท่านี้ก็พอจะเห็นแล้วว่า คนเราต้องมีความฝัน ต้องมีความหวัง แต่ขอให้ความฝันหรือความหวังนั้น ไม่เกินความสามารถของตนเอง เป็นความฝันที่ดำเนินอยู่บนหนทางแห่งความเป็นจริง
3 ฝันในยามครึ่งหลับครึ่งตื่น เร่าเรียกฝันในลักษณะนี้ว่า "ละเมอ" คงจะไม่ผิด ซึ่งบางครั้งรุนแรงจนถึงเลือดตกยางออกก็มี ด้วยบางคนละเมอจนตกจากเตียง ขาแข้งหัก ปากคอแตก บางคนละเมอด่าคนใกล้ตัว คนใกล้ตัวบังเอิญได้ยินเข้าพอดี ก็นึกต่อไปแล้วกันว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่ส่วนมากความฝันลักษณะนี้มักจะเป็นไปในทางตกใจ เช่น ละเมอเห็นผี ละเมอว่าตกจากที่สูงๆ ละเมอว่า ถูกเจ้าหนี้ตามทวงหนี้ - ลูกหนี้หักหลังไม่ยอมจ่ายเงิน ฯลฯ
ฝันประจำวัน
ตามตำราโหราศาสตร์โบราณ ความฝันจะให้คุณหรือโทษแก่ใครนั้น สามารถแบ่งเป็นความฝันประจำวันอีกด้วย โดยปรากฎเป็นบทกลอน ดังนี้
วันอาทิตย์เกิดนิมิตแก่ผู้ใด คนทั่วไปเป็นผู้ใด้ใช่คนฝัน
หากมีจิตเกิดนิมิตในวันจันทร์ ทุกขลาภนั้นได้ตรงวงศ์วานมิตร
วันอังคารได้เกิดฝันนั้นว่าแน่ ได้แก่พ่อแม่เราเองเก็งไม่ผิด
ฝันวันพุธได้บุตรภรรยาชิด สมดังจิตที่คิดฝันนั้นแน่นอน
ฝันวันพฤหัสฯอัศจรรย์เข้าฝันสู่ ด้วยได้แก่ครูผู้สั่งสอน
ฝันวันศุกร์ทุกขลาภจะคราจร นั้นจะย้อนแก่สัตว์ทาสในเรือน
ฝันวันเสาร์ไม่ต้องเดาก็รู้ผล ได้แก่ตนผู้ฝันนั้นยากเหมือน
ในเจ็ดวันฝันมาอย่าแชเชือน เร่งรู้เตือนจดจำเป็นตำรา
การแก้ฝัน
ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะบอกลูกหลานถึงวิธีแก้ฝันคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ หากผู้ใดเกิดฝันร้าย จะแนะนำให้แก้ความฝันกับน้ำ ด้วยการตื่นจากฝันร้ายคราใด ก็อย่าเพิ่งพูดจากับใคร ให้มุ่งไปล้างหน้าล้างตาอย่างเดียว แล้วกล่าวขอให้ฝันร้ายนั้นจงลอยไปกับสายน้ำที่ราดรดไป การแก้ฝันดังกล่าว เสมือนเป็นการขอความช่วยเหลือให้แม่คงคาช่วยดับทุกข์ ฝันร้ายจะกลายเป็นดี
ความฝันในเชิงจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์
ความฝันเกิดจากแรงกระตุ้นในจิตใต้สำนึก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เก็บกดไว้...นั่นคือความเห็นของ Sigmund Freud (ซิกมันด์ ฟรอยด์) นักจิตวิทยาชื่อก้อง ในขณะที่ Hobson (ฮอบสัน) และ Mccarley (แมคคาเลย์) ก็ได้เสนอทฤษฎี Activation systhesis model ซึ่งสรุปสั้นๆว่า ความฝันนั้นเกิดจากการทำงานของระบบสมองในเวลาหลับ เนื้อหาของความฝันจะเกี่ยวข้องกับกับการเคลื่อนไหวทั้งสิ้น
ทว่า ในวงการวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่า ความฝันเป็นความต้องการพื้นฐาน {Need} ของมนุษย์ เพื่อรักษาสภาพความสมดุล (Equilibrium) ของจิตใจและร่างกาย เพราะจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้ที่ถูกปลุกให้ตื่นจากการนอนหลับเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องกันหลายคืน จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถฝันได้นั้น ปรากฎว่า ผู้อดฝันทั้งหลายจะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย บางคนถึงขั้นประสาทหลอนก็มี ครั้นให้ผู้อดฝันทั้งหลายได้มีโอกาสนอนตามปกติ โดยไม่มีการรบกวนเลยนั้น ปรากฎว่า หลับยาวนานกว่าปกติ นัยว่าเป็นการนอนหลับเพื่อฝันชดเชย งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบอีกว่า ความฝันสามารถทำให้สมองของคนเราทำงานเกี่ยวกับความจำได้ดีขึ้นอีกด้วย
สีของความฝัน
มีคนสนใจกันมากว่า ภาพในความฝันของคนเรานั้นมีสีสันอะไร เพราะบางคนเมื่อตื่นขึ้นมา ก็ไม่สามารถระบุชัดได้ว่า ภาพฝันที่ตนเองฝันนั้นมีสีอะไร ด้วยว่าช่วงที่กำลังฝันนั้น มัวแต่สนใจเนื้อหาสาระที่ฝัน มากกว่าจะสนใจกับสีสัน แต่บางคนก็สามารถบอกได้ว่า ภาพฝันของตนเองเป็นสีโน้นสีนี้ได้ เพราะว่าสิ่งที่ปรากฎในความฝันแสดงสีอย่างชัดเจน และผู้ฝันเองก็เป็นคนช่างสังเกตสังกาด้วย สำหรับผู้มีสายตาปกตินั้น ภาพฝันที่เกิดขึ้นจะปรากฎภาพสีและขาวดำ ส่วนคนตาบอดสี ภาพฝันจะเป็นสีที่เขาสามารถเห็นได้ในยามปกติหรือยามตื่น แต่ในหมู่ของคนตาบอดแต่กำเนิด ภาพฝันจะอยู่ในลักษณะของการสัมผัสและได้ยินเป็นส่วนใหญ่อนึ่ง การทำนายฝัน มีคำทำนายเพียง 50 เรื่อง และเพื่อให้คำทำนายดังกล่าวมีความกระจ่างมากขึ้น จึงขอสอดแทรกบทกลอนทำนายฝัน "มหาสุบินนิมิตชาดก" คัดจากสมุดไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และเนื่องจากเป็นหนังสือเก่า จึงมีที่ขาดตกบกพร่อง หรือชำรุดเสียหายไป จึงคัดเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยปรากฎคำกลอนทำนายดังนี้...ต่อหน้า 2