โหราศาสตร์ เป็นวิชาที่ใช้ทายกาลล่วงหน้าหรือดูการล่วงหน้า ใช้สำหรับพยากรณ์ผลกรรมของมนุษย์โดยอาศัยดวงดาวเป็นเครื่องพยากรณ์
ผลกรรมของมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา ตามที่แสดงไว้ในกัมมวิภังคสูตร ได้แสดงผลกรรมไว้ ๑๔ ประการคือ บางคนอายุยืน บางคนอายุสั้น บางคนมีโรคน้อย บางคนมีโรคมาก บางคนมีผิวพรรณดีบางคนมีผิวพรรณทราม บางคนมีศักดามาก บางคนมีศักดาน้อย บางคนมีทรัพย์สมบัติมาก บางคนมีทรัพย์สมบัติน้อย บางคนมีตระกูลสูง บางคนมีตระกูลต่ำ บางคนมีปัญญามาก บางคนมีปัญญาน้อย
โหราศาสตร์จะเป็นเครื่องบอกผลกรรม ๑๔ ประการ และความเป็นไปของมนุษย์ในห้วงระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี แสดงเหตุและผลของดวงดาว ทำให้สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าของวิถีทางของมนุษย์ และเหตุการณ์ของโลกทั่ว ๆ ไป
วิชาโหราศาสตร์ เป็นวิชาที่เก่าแก่เชื่อว่าเกิดในทวีปเอเซียก่อนแล้วจึงแพร่หลายไปยังแหล่งอื่น ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศาสนาก็มีคำสดุดีดาวพระเคราะห์อยู่ด้วย สำหรับวิชาโหราศาสตร์ของไทยตามหลักฐานที่มีอยู่ แสดงว่าได้รับสืบทอดมาจากอินเดีย เมืองไทยเราตั้งอาณาจักรสุโขทัยก็ได้มีตำแหน่งพระมหาราชครู ซึ่งเป็นพราหมณาจารย์ และตั้งให้เป็นปุโรหิตประจำราชสำนักสืบต่อมาในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงมีพราหมณาจารย์ดำรงตำแหน่งพระมหาราชครู
ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพุทธานุญาตให้ พระภิกษุสงฆ์เรียนรู้วิชาโหราศาสตร์ในเรื่องฤกษ์ยาม เพื่อจะได้รู้เวลาทำอุโบสถสังฆกรรม อันเป็นกิจในพระพุทธศาสนา จึงได้มีชื่อ วัน เดือน ปี และฤกษ์แสดงไว้ท้ายบอกวัตรพระเป็นประเพณีสืบต่อมา ที่มาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในอรัญญิกเสนาสนะได้มีหมู่โจรมาถามว่า วันนี้พระจันทร์กอร์ปด้วยนักขัตฤกษ์อะไร พระภิกษุตอบว่าไม่รู้ พวกโจรจึงว่า ชนเหล่านี้มิใช่สมณะจึงไม่รู้นักขัตตบาท คงจะเป็นพวกโจรมาซุ่มซ่อนอยู่ ว่าแล้วโจรเหล่านั้นก็เข้าทำร้าย พระภิกษุเหล่านั้นแล้วหลีกไป เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์จึงทรงมี พระพุทธฎีกาตรัสให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงตรัสอนุญาต ให้ภิกษุที่ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าพึงเรียนรู้นักขัตฤกษ์ สำหรับอรัญญิกวัตร เพื่อรักษาตนให้พ้นอันตรายจากโจร
วิชาหมอดู จัดว่าเป็นบันไดขั้นต้นของวิชาโหราศาสตร์ ทั้งสองวิชาต่างก็ใช้ดวงดาวนพเคราะห์เป็นเครื่องวินิจฉัย หลักวิชาที่หมอดูใช้ได้แก่ ตำราเลข ๗ ตัว โดยอาศัย วัน เดือน ปี และยามเวลาเกิด โดยเทียบเข้ากับหลักการของดาวเคราะห์เป็นมูลฐานในการทำนาย ส่วนวิชาโหราศาสตร์มีการกำหนดท้องฟ้าเป็นจักรราศี โดยแบ่งออกเป็น ๑๒ ราศี แบ่งออกเป็น ๒๗ นักษัตร ๓๖ ตรียางค์ และ ๑๐๘ นวางค์ นอกจากนั้นยังมีตำรามหาทักษาพยากรณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง หลักตำราโหรโบราณแทบทุกคัมภีร์ มักจะนำเอาหลักเกณฑ์ในมหาทักษาพยากรณ์ ไประคนกับหลักเกณฑ์ในวิชาโหราศาสตร์ ในวิชาโหราศาสตร์แบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ราศี แล้วจัดดาวพระเคราะห์เข้าครองประจำทุกราศี ที่เรียกว่า เกษตร และจัดให้ธาตุทั้งสี่ คือ ไฟ ดิน ลม น้ำ เข้าครองประจำทุกราศี กำหนดให้ดาวพระเคราะห์เกษตร์ประจำราศี เข้าครองธาตุตามลักษณะธาตุที่ประจำราศีนั้น และทุกราศีก็กำหนดให้เป็นทิศต่าง ๆ ในวิชาหมอดู มีการแบ่งท้องฟ้าออกเป็น ภูมิอัฐจักรพยากรณ์ มีดาวพระเคราะห์ ธาตุและทิศเข้าครองเหมือนหลักเกณฑ์ในวิชาโหราศาสตร์
ตำนานการอุบัติของดาวพระเคราะห์
ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพได้กล่าวไว้ว่า เมื่อโลกถูกไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญ เหลือแต่ความว่างเปล่า บรรดาพระเวท พระธรรมศาสตร์ ได้รวมตัวกันเข้า เกิดเป็นพระอิศวร พระอิศวรจึงสร้างโลกใหม่ให้บังเกิดมี มนุษย์ สัตว์ และพืช ขั้นแรกสร้างพระอุมาภควดี พระนารายณ์ และพระพรหมธาตุขึ้นก่อน แล้วสำรอกเนื้องอกออกจากท้องเกิดเป็นแผ่นดิน ถอดจุฑามณีออกจากผม แล้วบันดาลให้เป็นเขาสุเมรุราช และบันดาลให้เกิดธาตุทั้งปวงขึ้นในโลก บังเกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่ เมื่อฝนหายแล้ว ลมหอบเอาไอดินหอมขึ้นไปถึงพรหมโลก บรรดาพรหมหอมกลิ่นไอดินก็เกิดอยากเสพง้วนดิน จึงแปลงเพศเป็นนางพรหมรวมเจ็ดองค์ลงมากินง้วนดิน เมื่อกินง้วนดินไปแล้วก็มีเทพบุตร และเทพธิาจุติลงมาเกิดในครรภ์ของนางพรหมทั้งเจ็ด ต่อมาได้คลอดบุตรเป็นชายหนึ่งคนเป็นหญิงหกคน เป็นต้นวงศ์ของมนุษย์ในโลก
พระอิศวรมีดำริว่า เมื่อโลกมีมนุษย์ และสัตว์เกิดขึ้นแล้ว สมควรจัดให้มีแสงสว่างส่องโลก จึงได้ตั้งจักรราศีไว้ ๑๒ ราศี ประกอบด้วยดาวฤกษ์ ๒๗ ฤกษ์ มีวิมานนพเคราะห์ ๙ วิมาน เวียนรอบจักรราศีตามกำหนดเวลา กำหนดให้มีสัตว์ ๑๒ นักษัตรขึ้นเป็นนามมี คือ หนูเป็นนามปีชวด วัวเป็นนามปีฉลู เสือเป็นนามปีขาล กระต่ายเป็นนามปีเถาะ งูใหญ่เป็นนามปีมะโรง งูเล็กเป็นนามปีมะเส็ง ม้าเป็นนามปีมะเมีย แพะเป็นนามปีมะแม ลิงเป็นนามปีวอก ไก่เป็นนามปีระกา สุนัขเป็นนามปีจอ และหมูเป็นนามปีกุน
จากนั้นได้สร้างพระอาทิตย์ (๑) จากราชสีห์ ๖ ตัว พระอาทิตย์ จึงมีกำลัง ๖ ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ
สร้างพระจันทร์ (๒) จากนางฟ้า ๑๕ พระจันทร์จึงมีกำลัง ๑๕ มีม้าเป็นพาหนะ
สร้างพระอังคาร (๓) จากกระบือ ๘ ตัว พระอังคารจึงมีกำลัง ๘ มีกระบือเป็นพาหนะ
สร้างพระพุธ (๔) จากช้าง ๑๗ ตัว พระพุธจึงมีกำลัง ๑๗ มีช้างเป็นพาหนะ
สร้างพระพฤหัสบดี (๕) จากฤาษี ๑๙ ตน พระพฤหัสบดีจึงมีกำลัง ๑๙ มีกวางทองเป็นพาหนะ
สร้างพระศุกร์ (๖) จากโค ๒๑ ตัว พระศุกร์จึงมีกำลัง ๒๑ มีโคเป็นพาหนะ
สร้างพระเสาร์ (๗) จากเสือ ๑๐ ตัว พระเสาร์จึงมีกำลัง ๑๐ มีเสือเป็นพาหนะ
สร้างพระราหู (๘) จากหัวผีโขมด ๑๒ หัว พระราหูจึงมีกำลัง ๑๒ มีครุฑเป็นพาหนะ
สร้างพระเกตุ (๙) จากพญานาค ๙ ตัว พระเกตุจึงมีกำลัง ๙ มีนาคเป็นพาหนะ
พระอิศวรจัดให้เทวดานพเคราะห์ทั้งเก้าโคจรรอบจักรราศี โดยมีเขาพระสุเมรุราชเป็นหลักของโลก เทวดาพระเคราะห์ทั้งเก้า ก็โคจรรอบเขาสุเมรุราช พระอิศวรปรารภว่า เขาพระสุเมรุราชประกอบด้วย เหลี่ยมใหญ่ประจำทิศทั้งแปด ยังไม่มีผู้ใดรักษา จึงได้มอบให้ พระอาทิตย์ (๑) รักษาทิศอีสาน พระจันทร์ (๒) รักษาทิศบูรพา พระอังคาร (๓) รักษาทิศอาคเณย์ พระพุทธ (๔) รักษาทิศทักษิณ พระเสาร์ (๗) รักษาทิศหรดี พระพฤหัสบดี (๕) รักษาทิศประจิม พระราหู (๘) รักษาทิศพายัพ พระศุกร์ (๖) รักษาทิศอุดร ส่วนพระเกตุ (๙) ให้ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง
การเข้าครองทิศของเทวดาอัฐเคราะห์ให้ตั้งต้นที่ทิศทักษิณก่อน แล้วนับตั้งแต่ทิศทักษิณเป็นต้นไปเท่ากับกำลังของตน โดยทางทักษิณาวัตร คือเวียนขวา จากทักษิณไปหรดี เช่นพระอาทิตย์มีกำลัง ๖ ก็นับเริ่มต้นที่ทิศทักษิณเวียนขวาไปตามลำดับ ถึงลำดับ ๖ ตกทิศอิสาน ดังนั้นพระอาทิตย์ (๑) จึงประจำอยู่ที่ทิศอิสาน ดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันจนครบแปดดวง ทำให้เกิดภูมิพยากรณ์ และตำรามหาทักษา สำหรับใช้พิจารณาชะตาชีวิตในวิชาโหราศาสตร์เบื้องต้น คือวิชาหมอดูนั่นเอง