Welcome to
ห้องโหรลุงแว่น
ศาสตร์แห่งปัญญาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

การทำบุญสามารถทำได้ทั้งทาน ศีล ภาวนา ในที่นี้กล่าวถึงการทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ
องค์ประกอบข้อที่ ๑. "วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์"
วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนเองได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยยักยอก ทุจริต ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ
องค์ประกอบข้อที่ ๒. "เจตนาในการสร้างทานต้องบริสุทธิ์"
การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่นความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ "โลภกิเลส" และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วย เมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตา พรหมวิหารธรรมในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ
(๑) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะทานก็จะมีจิตที่โสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน
(๒) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังมือให้ทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตใจโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
(๓) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้น ๆ
องค์ประกอบข้อที่ ๓. "เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์"
คำว่า "เนื้อนาบุญ" ในที่นี่ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั้นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว กล่าวคือวัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ แต่ตัวผู้ที่ได้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา ๑ กำมือ แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม (วัตถุทานบริสุทธิ์) และผู้หว่านคือกสิกรก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป้นอาชีพ (เจตนาบริสุทธิ์) แต่หากที่นานั้นเป็นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปก็งอกเงยไม่เสมอกัน โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ดี ก็จะงอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำก็จะแห้งเหี่ยวหรือเฉาตายไป หรือไม่งอกเงยเสียเลย การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ "บุญ" หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทานคือบุญก็จะได้เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์ เพราะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่าง ๆ ฉะนั้นในการทำทาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทานจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ คนที่รับการให้ทานนั้นหากเป็นผู้ที่มีศีลธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก หากผู้รับการให้ทานเป็นผู้ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น คือได้บุญน้อย
ในทักขิณาวิภังคสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
http://84000.org/tipitaka/read/?๑๔/๗๑๑
๑. ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานแก่บุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานแก่ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ได้ผลนับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย
สาระว่าด้วยทาน
บุคคลบางคนเมื่อให้ทานแก่สมณพราหมณ์แล้ว เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนถวายไป เขาคิดว่า เมื่อตายไปแล้ว ขอให้เกิดเป็นเศรษฐีบ้าง เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ บ้าง เขาตั้งจิตนั้นไว้ อบรมจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ จิตของเขาน้อมไปในสิ่งนั้น มิได้อบรมเพื่อคุณธรรม เบื้องสูง ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในที่นั้น ก็ข้อนั้นแล เรา (พระสารีบุตร) กล่าวสำหรับผู้มีศีล ไม่ใช่ผู้ทุศีล ความตั้งใจของผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์
(สังคีติสูตร ๑๑/๓๔๖)
ในอิสสัตถสูตร (๑๕/๔๐๕-๔๐๖) พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้า
ป. บุคคลควรให้ทานในที่ไหนหนอ
พ. ควรให้ในที่ที่จิตเลื่อมใส
ป. ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก
พ. ทานควรให้ในที่ไหนนั่นเป็นข้อหนึ่ง และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมากนั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง ดูก่อนมหาบพิตร ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแลมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่
ในชัปปสูตร (๒๐/๔๙๗) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับปริพาชกวัจฉโคตรว่า
วัจฉะ ชนเหล่าใดที่กล่าวว่า พระสมณโคดมตรัสว่า ทานควรให้แก่เราและสาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ และสาวก ทานที่ให้แก่เราและสาวกเท่านั้นจึงมีผลมาก ทานที่ให้แก่คนอื่นและสาวกไม่มีผลมาก ดังนี้ ชนเหล่านั้นใส่ความเราด้วยเรื่องไม่จริง
ผู้ใดห้ามคนอื่นที่ให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายต่อคน ๓ คน คือ ทำอันตรายบุญของผู้ให้ ทำอันตรายลาภของผู้รับ อนึ่ง ตัวของ ผู้นั้นชื่อว่าถูกขุด (จากความดี) ถูกฆ่า (จากความดี)
วัจฉะ เรากล่าวอย่างนี้ต่างหากว่า ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อหรือน้ำ ล้างชามลงไปในหลุมหรือท่อโสโครก ด้วยเจตนาให้สัตว์ที่อยู่ในนั้นได้เลี้ยงชีพ อย่างนี้เรายังกล่าวการได้บุญอันมีกิริยานั้นเป็นมูล จะกล่าวอะไรถึงการให้แก่มนุษย์ด้วยกันเล่า
แต่นั่นแหละ วัจฉะ เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านผู้มีศีลมีผลมาก หาได้กล่าวอย่างนั้นในผู้ทุศีลไม่
ในทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
๑. ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานแก่บุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานแก่ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ได้ผลนับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย
อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร อธิบายว่า ทานที่ให้ผลร้อยเท่า คือ ให้อายุร้อยอัตภาพ ให้วรรณะร้อยอัตภาพ ให้สุขร้อยอัตภาพ ให้พละร้อยอัตภาพ ให้ปฏิภาณร้อยอัตภาพ
ในสัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงทาน ๕ ประการ คือ
๑. ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม
๒. ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวารที่เชื่อฟัง
๓. ทานที่ให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย
๔. ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ
๕. ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น
ในทานสูตร (๒๓/๔๙) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงทาน ๗ อย่าง
๑. ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ ๑)
๒. ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ ๒)
๓. ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา (สวรรค์ชั้นที่ ๓)
๔. ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ ๔)
๕. ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี (สวรรค์ชั้นที่ ๕)
๖. ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใสเกิดความปลื้มใจและโสมนัส เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี (สวรรค์ชั้นที่ ๖)
๗. ให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง (อรรถกถาอธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทาน แต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน)
ในกูฏทันตสูตร (๙/๒๓๐) กล่าวถึงผลแห่งกรรมดีตามลำดับ คือ ทาน นิตยทานที่ถวายในผู้มีศีล วิหารทานแด่พระสงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ ไตรสรณคมน์ ศีลห้า สมาธิ ปัญญา
อรรถกถากูฏทันตสูตร กล่าวถึงทาน ๓ ชนิด คือ
๑. ทาสแห่งทาน ให้ของเลวกว่าที่ตนบริโภค
๒. สหายแห่งทาน ให้ของอย่างที่ตนบริโภค
๓. เจ้าแห่งทาน ให้ของดีกว่าที่ตนบริโภค
ในเวลามสูตร (๒๓/๒๒๔) กล่าวถึงผลแห่งกรรมดีตามลำดับคือ ทานที่ให้ในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข วิหารทานถวายสงฆ์จาก ๔ ทิศ การเลื่อมใสในพระรัตนตรัย การสมาทานศีล การเจริญเมตตาจิตเพียงชั่วเวลาสูดดมของหอม การเจริญอนิจจสัญญาเพียงชั่วลัดนิ้วมือ
ในสัปปุริสสูตร (๒๓/๑๒๗) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสัปปุริสทาน ๘ ประการว่า
สัปบุรุษย่อมให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ (แก่ผู้มีศีล) ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑ (แม้ให้มากก็ไม่เสียดาย) ทานเช่นนี้ย่อมเป็นที่สรรเสริญของผู้มีปัญญา และนำไปสู่โลกอันเป็นสุข
จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๔/๕๗๙) กล่าวว่า ผลการไม่ให้ทาน ตายไปจะเข้าถึงทุคติ หรือเกิดเป็นคนยากจน ผลการให้ทาน ตายไปจะเข้า ถึงสุคติ หรือเกิดเป็นคนร่ำรวย
อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ กล่าวถึงทาน ๔ ประการ คือ
๑. ให้ด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๒. ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ
๓. ไม่ให้ด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๔. ให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ได้บริวารสมบัติ
อรรถกถากล่าวว่า ทานที่มีผลมากประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑. ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม
๒. ของที่ให้ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ
๓. มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้ว
ปายาสิราชัญญสูตร (๑๐/๓๒๙) กล่าวถึงพระยาปายาสิผู้เคยมีความเห็นผิดว่า โลกอื่นไม่มี สัตว์ผุดเกิดไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี ภายหลังถูกพระกุมารกัสสปเถระเปลื้องจากความเห็นผิดนั้นเสีย จึงให้ทานแก่คนทั้งหลาย
ครั้งนั้น พระยาปายาสิให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ให้ทานด้วยมือ ตนเอง ให้ทานโดยไม่นอบน้อม ให้ทานแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ครั้นตาย แล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ ๑) มีเสรีสกวิมานอันว่างเปล่า ส่วนอุตตรมาณพ ผู้จัดการในทานของพระเจ้าปายาสินั้น (แม้ทานจะเป็นของผู้อื่นก็) ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือตนเอง ให้ทานโดยนอบน้อม ให้ทานไม่ใช่ทิ้งๆ ขว้างๆ ครั้นตายแล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ ๒ ซึ่งสูงกว่าจาตุมหาราช)
ในทารุกัมมิกสูตร (๒๒/๓๓๐) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามคหบดีชื่อทารุกัมมิกะ (พ่อค้าฟืน)
พ. ทานในสกุล ท่านยังให้อยู่หรือ
ท. ยังให้อยู่ และทานนั้น ข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นอรหันต์หรือ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
พ. ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือนกับบุตรภริยา ทัดทรงดอกไม้ ใช้ของหอม ยินดีทองและเงิน พึงรู้ได้ยากว่าภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ภิกษุใดเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
ดูก่อนคหบดี เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ท. ข้าพระองค์จักให้สังฆทาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จากหนังสือ นานาสาระ