Welcome to
ห้องโหรแว่นทิพย์
ศาสตร์แห่งปัญญาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
โดย : สมพร จิตรัตนพร บภ.
สัมผัสเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญอย่างมากในการดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มีความต้องการ และโหยหาสัมผัสจากผู้อื่นอยู่เสมอ หากไม่ได้รับการสัมผัสในช่วงวัยต่าง ๆ ที่เพียงพอ ก็อาจทำให้บุคคลผู้นั้นมีจิตใจที่แข็งกร้าว กระด้าง หรือก้าวร้าวได้ เนื่องจากสัมผัสที่ได้รับจากบุคคลใกล้ชิดอย่างเหมาะสมจะแฝง หรือสื่อไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจที่จะปลอบประโลมใจ เป็นกำลังใจ และเป็นพลังให้กับผู้ที่ได้รับสัมผัสสามารถสร้างสรรสิ่งดี ๆ ให้กับตนเอง ครอบครัวและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สัมผัสในวัยต่าง ๆ ที่มนุษย์ต้องการจะได้รับจากบุคคลใกล้ชิด เป็นต้นว่า ในวัยเด็กก็ต้องการได้รับจากคุณพ่อ คุณแม่ อยากได้รับการอุ้ม การกอด ปลอบประโลม ลูบศรีษะ ลูบหลังหรือสัมผัสอื่น ๆ รวมถึงจากญาติผู้ใหญ่ หรือคุณครูที่โรงเรียน
เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นก็จะต้องการสัมผัสจากเพื่อน เช่น การกอดคอ การหยอกเย้ากันในกลุ่มเพื่อน ๆ หากมีใครที่ไม่มี เพื่อนที่จะกอดคอแสดงถึงความไว้ใจสนิทใจด้วย ก็จะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว และคิดว่าตนเองเป็นคนที่ไม่มีความหมาย ส่งผลกระทบถึงจิตใจได้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัว มีการงานทำ เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ต้องการ การสัมผัสจากสามี หรือภรรยา หรือต้องการผ่อนคลายจาการนวดสัมผัสที่จะทำให้รู้สึกสบายขึ้น
เมื่อวัยก้าวล่วงสู่วัยสูงอายุ ก็ยังมีความต้องการเป็นอย่างมากที่จะได้รับสัมผัสจากลูกหลาน จากการเคล้าคลอเคลีย สัมผัสมือแขน หรือนวดสัมผัสและการกอดสัมผัสจากลูกหลาน ทำให้ไม่รู้สึกอ้างว้าง ถูกทอดทิ้ง หรือหมดคุณค่า และจะช่วยให้มีความสุขใจมากยิ่งขึ้น
จึงกล่าวได้ว่า สัมผัสเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก โดยเฉพาะในวัยเด็กซึ่งในวัยเด็กนี้ ประสาทสัมผัสต่าง ๆ จะไวกว่าผู้ใหญ่ และการให้สัมผัสทางผิวหนัง ก็จะมีพื้นที่ในการรับรู้มากกว่า สัมผัสทั้ง 5 เช่น ตา หู จมูก ปาก ดังนั้น หากลูกน้อยของคุณได้รับสัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนโยน และตั้งใจจากคุณแม่แล้ว ลูกน้อยของคุณ จะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ผ่อนคลาย และวางใจ เช่น การได้รับสัมผัส จากการอุ้ม กอดเมื่อร้อง การอุ้มให้นม อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ผ้าอ้อม หรือทาแป้ง และกิจวัตรอื่น ๆ ประจำวันที่ลูกน้อยของคุณจะได้รับการสัมผัส คุณแม่หลายคนคิดว่าเท่านี้ก็น่าจะมากเพียงพอแล้ว แต่ยังมีการสัมผัสที่ช่วยเพิ่มพัฒนาการของลูกน้อยของคุณให้ดียิ่งขึ้น คือการ นวดสัมผัสบำบัด ซึ่งเป็นการสื่อภาษาทางกายและสายสัมพันธ์ทางใจระหว่างคุณกับลูกน้อย ให้เกิดความรัก ความผูกพันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่าง ๆ อีกเช่น
- ช่วยเพิ่มพัฒนาการทางด้านสมองและสมาธิ
- ช่วยให้ลูกน้อยมีจิตใจแจ่มใส อารมณ์ดี
- ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มการเจริญเติบโตของลูกน้อย
- ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายทำงานปกติ
- ช่วยให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เมื่อลูกน้อยเกร็งตัวเวลาร้อง
- ลดระดับฮอร์โมน คลายเครียด ความดันโลหิต ช่วยให้หลับสบาย
- ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิต และกล้ามเนื้อดีขึ้น
- ช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวให้ลูกน้อยที่แรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย
- ทำให้ลูกน้อย สบาย สงบ หรือเพลิดเพลิน
- บำบัดหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปวดศรีษะหรือปวดท้อง
- เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ-แม่ และลูกน้อย
|
| การนวดสัมผัสบำบัด ให้ลูกน้อย ก่อให้เกิดผลดีต่าง ๆ มากมายอย่างนี้ คุณแม่ที่สนใจจึงควรเตรียมความพร้อมในการนวดสัมผัสให้ลูกน้อย ดังนี้
- หาห้องที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมไม่มีลมโกรก เพราะลูกน้อยจะไม่ได้ใส่เสื้อผ้า
- ควรนวดช่วงที่ลูกน้อย กำลังมีอารมณ์ดี
- จัดเวลาให้ลูกน้อย วันละ 15-20 นาที หรือเป็นช่วงหลังอาบน้ำ
- อาจใช้แป้งเด็กเบบี้ออยล์ หรือเบบี้โลชั่น ช่วยในการนวด เพื่อช่วยหล่อลื่นและลดการเสียดสี
- อาจมีการร้องเพลงเบา ๆ หรือเปิดเพลงร่วมไปกับการนวดจะช่วยให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น
- ควรนวดไปด้วย เล่นไปด้วยจะช่วยให้ลูกน้อย เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย และไม่ต่อต้าน
- ล้างมือให้สะอาด และตัดแต่งเล็บให้สั่นไม่มีเหลี่ยมคม อาจถูมือด้วยแป้งเด็กหรือเบบี้ออยล์
- ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า จะต้องนวดท่าใดก่อนอาจเป็นท่าที่สะดวก สำหรับคุณแม่ และลูกน้อยในขณะนั้
- ใช้ที่นอนที่นุ่มจัดท่าลูกน้อย ให้เหมาะสมอาจนั่งหรือนอนก็ได้ หรือคุณแม่นั่งเหยียดเท้า แล้วจัดให้ลูกน้อยนอนหงาย บนระหว่างขาทั้งสองข้าง หันเท้าเข้าหาคุณแม่
ข้อควรระวังที่พึงระลึกถึง
- ไม่ควรนวดหลังลูกน้อยอิ่มใหม่ ๆ ควรรอให้ย่อยก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง
- ถ้าลูกน้อยมีอาการปฏิเสธ ไม่ควรบังคับ ควรเลื่อนไปก่อน แล้วค่อยเริ่มใหม่หลังตื่นนอนหรือตอนลูกน้อยอารมณ์ดี
- ลงน้ำหนักอย่างนุ่มนวล ไม่เบาจนกลายเป็นจั๊กจี้ หรือแรงเกินจนเนื้อช้ำหรือเจ็บ จากการสังเกตสีหน้า และท่าทางของลูกน้อย
- อย่าลืมพูดคุย ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลและมองสบสายตากับลูกน้อยสลับกับการหอมหรือจูบ และหยอกเล่นด้วยจะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการ นวดสัมผัสบำบัด
|
ขั้นตอนในการนวดสัมผัสบำบัด
ควรนวดจากทางด้านหน้าก่อน ถ้าสะดวก เพื่อลูกน้อยจะได้เห็นหน้าคุณพ่อหรือคุณแม่ และจะได้สังเกตดูอาการของลูกน้อยว่านวดหนักหรือเบาเกินไปหรือเปล่า โดยจะเริ่มนวด จากใบหน้า หน้าอก แขนและมือทีละข้างแล้วจึงนวดท้องขาและเท้าทีละข้าง จากนั้นจึงจัดท่าให้ลูกน้อย นอนคว่ำหน้า นวดแผ่นหลังไปจนถึงเท้า ซึ่งมีท่านวดท่าต่าง ๆ ดังนี้
ท่าที่ 1 : ท่านวดหน้า
- จรดนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้าง ที่กลางคางลากเป็นเส้นตรงจนสุดขอบปากด้านล่าง
- จรดนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้าง ลงตรงกลางเหนือบริเวณปากบน ลากออกเป็นเส้นตรงจนสุดขอบปาก
- จรดนิ้วที่ข้างจมูก ลากผ่านแก้ม แล้วนวดยกแก้มขึ้น
- จรดนิ้วหัวแม่มือที่กลางหน้าผากลากออกขวางหน้าผากจนสุดขอบหน้าผาก
- นวดคลึงเบา ๆ รอบ ๆ ปาก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบปาก ช่วยดูดนมได้ดีขึ้น
|
|
ท่าที่ 2 : ท่านวดอก
- วางมือทั้งสองข้างเบา ๆ ที่กลางอก คลึงลากมือออกจากกันขึ้นข้างบน แล้วคลึงออกไปทางหัวไหล่ แล้วคลึงลากลงมาตามแนวซี่โครง
- ลากมือทั้งสองให้โค้งชนกันที่ท้องแล้วขึ้นไปที่หน้าอก ทำซ้ำ 3 รอบ
|
|
ท่าที่ 3 : ท่านวดแขนและมือ
- จับมือเด็กชูเหนือหัวในแนวระนาบ พร้อมกับนวดบริเวณใต้รักแร้ ซึ่งเป็นการนวดต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้
- จับมือเด็กไว้ในมือข้างหนึ่ง อีกมือค่อย ๆ บีบลงไปตามแขน ตั้งแต่ไหล่จนถึงข้อมือ นวดซ้ำแบบเดิม 3 ครั้ง จากนั้นใช้มือทั้งสองจับแขนเด็กเคล้นเบา ๆ จากไหล่ถึงข้อมือ
- ใช้หัวแม่มือทั้ง 2 ข้าง บีบฝ่ามือให้แผ่ออกจากด้านในสู่ด้านข้าง แล้วจับมือเด็กไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง ลูบฝ่ามือเด็กด้วยมือข้างหนึ่งช้า ๆ ผ่านฝ่ามืออกไปทางนิ้ว ฝ่ามือของเด็กจะกางออกขณะนวด
|
|
ท่าที่ 4 : ท่านวดท้อง กระตุ้นระบบทางเดินอาหาร
- ท่านวดทุกท่าจะจบที่บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายของเด็ก เพื่อให้เป็นทางเดียวกันกับระบบไหลเวียนของทางเดินอาหาร
- ใช้มือลูบเป็นเส้นตรงจากอกถึงท้องน้อยทำทีละข้างทั้ง 2 ข้าง
- ลูบเป็นเส้นโค้ง จากท้องด้านขวาไปถึงท้องน้อยด้านซ้าย
- วางฝ่ามือตั้งฉากกับท้องเด็ก เคลื่อนมือลงด้านล่างสลับกัน เริ่มจากชายโครง จนถึงท้องด้านล่าง
- ใช้มือข้างหนึ่ง รวบขาทั้ง 2 ข้างของลูกน้อยยกขึ้น ให้แขนอีกข้างไล้ในลักษณะกวาดจากสะดือถึงเข่าแล้วนวดกลับ แล้วเปลี่ยนมือทำเหมือนเดิม (ทำซ้ำ 3 ครั้ง)
ท่าที่ 5 : ท่านวดขา
- ใช้มือข้างหนึ่งจับเท้ายกขึ้นหนึ่งข้างใช้มืออีกข้างกำบีบนวดรอบขา จากโคนขาลงมาถึงข้อเท้า
- ใช้มือสองข้างประกบขาแล้ว คลึงไปคลึงมาจากโคนขาไล่มาถึงข้อเท้า
- ใช้หัวแม่มือกดที่ฝ่าเท้าให้ทั่วฝ่าเท้า แล้วเปลี่ยนไปนวดขาอีกข้างเหมือนกัน นวดซ้ำท่าละ 3 รอบ
ท่าที่ 6 : ท่านวดหลัง (นอนคว่ำ)
- ทาแป้งหรือออยล์ที่ฝ่ามือแล้วเริ่มนวดจากบ่า ไหล่ ใช้ฝ่ามือนวดคลึงจากบ่า-ไหล่ ลงมาแผ่นหลังจนถึงก้นกบ ทำซ้ำ 3 รอบ
- นวดคลึงด้านข้างลำตัว 2 มือนวดสลับกันจากก้นขึ้นไปถึงบ่า เคล้นข้างลำตัวถึงหลังทำทั้ง 2 ด้าน ซ้ำ 3 รอบ
- ใช้มือข้างหนึ่งจับข้อเท้าทั้งสองของลูกน้อยยกขึ้น ยืดขาออกเล็กน้อยใช้มืออีกข้างนวดลูบจากหลังลงไปจนถึงเท้าทำสลับมือกันทำซ้ำ 3 รอบ
ท่านวดเพียงเท่านี้ หากคุณแม่ใส่ใจนวดให้ลูกน้อยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอแล้ว คุณจะพบว่า ลูกน้อยของคุณจะมีสุขภาพกายและจิตที่ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ และหากคุณแม่หมั่นสังเกตลูกน้อยก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีพัฒนาการเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ คุณแม่ควรให้สัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนโยน และมีอารมณ์ดีในขณะนวดสัมผัสให้ลูกน้อย จะเป็นการพัฒนาอีคิวและไอคิวให้ลูกน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากคุณแม่นวดด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ใจร้อน หรือกระแทกกระทั้น ก็จะทำให้เกิดผลตรงกันข้าม แก่ลูกน้อยของคุณได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มทักษะและศักยภาพที่ดีขึ้นให้ลูกน้อยจึงขอเชิญคุณแม่มาร่วม นวดสัมผัสบำบัดให้ลูกน้อยกันเถอะ
เอกสารอ้างอิง
- กอไชย โตศิริโชค. นวดเด็กเพื่ออัจฉริยะ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ยูโรปา เพรส จำกัด, 2537.
- ปองพล ศรีสืบ และคณะ. บันทึกคุณแม่. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด , 2545.
- พิสิฐ วงศ์วัฒนะ. นวดกายคลายโรค. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โฮล์สติก พับลิชชิ่ง จำกัด, 2539.
|
ที่มา สถาบันมูลนิธิเด็ก