เพราะยอดดอยไม่สูงเกินเข่า
คำพูดของชาวเขาที่ทำให้เราบากบั่นจนพิชิตยอด โมโกจู
ภาพโดย : วิษุวัส วัฒกวิฑูร นัฐวุฒิ ช้อยเครือ
เรื่องโดย : เชิญพร ชาคริยานุโยค
บ่ายวันพุธที่ 13 พ.ย. กับแสงแดดยามบ่ายที่แผดเผาอย่างไม่ปรานี ทำให้เราอดคิดอย่างฉุนๆ ไม่ได้ว่า นี่มันเดือนอะไรกันแน่ ตลอดเส้นทางเดินตามรอยเกลี่ยของรถแทรกเตอร์ร้อนระอุ ต้นไม้สองข้างทางไม่ช่วยแผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงาต้อนรับการกลับมาของนักเดินทางอย่างเราแต่อย่างใด ทั้งแมลงหวี่ และยุงบินวนเวียนอยู่รอบๆ หู ตา สร้างความรำคาญเวลาเดิน แต่ก็ยังไม่เท่ากับข้อเท้าทั้งสองข้างที่ปวดระบม และกล้ามเนื้อบริเวณน่องที่แข็งเกร็ง เราเดินทางมาตลอด 5 วันที่ผ่านมานี้ และตอนนี้เหลือเนินเขาเล็กๆ อีกเพียงเนินเดียวเท่านั้น เราผ่านป้ายบอกทางที่เขียนว่าสถานีที่ 1 อยู่ทางด้านซ้ายมือ เราจำได้ว่าตอนขามาเราพบป้ายนี้หลังจากเดินเข้าป่ามาได้อึดใจใหญ่ๆ อีกไม่นานเท่าไหร่เราจะได้กลับสู่เมือง พร้อมนำประสบการณ์ผจญภัยที่น่าประทับใจที่สุดในชีวิตมาเล่าสู่คนที่พลาดโอกาส
สำหรับนักเดินทางน้องใหม่ การเดินป่าระยะไกลเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง นับจากประสบการณ์เที่ยวธรรมชาติผ่านถ้ำเสาหินแห่งลำคลองงู น้ำตกนางนวลที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และทุ่งเขาแหลมในเขตเขาใหญ่ โมโกจู ก็ถูกบันทึกเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญต่อไปสำหรับนักนิยมไพรอย่างเรา
กิตติศัพท์แห่งความยากลำบาก และโหดหินของเส้นทางยาวไกลที่ต้องเดินเท้ากันหลายสิบกิโลเมตร ในผืนป่าตะวันตกที่ยังอุดมสมบูรณ์ ทำให้เราและเพื่อนๆ ร่วมผจญภัยชุดเดิมมุ่งมั่นที่จะจองทริป และใจจดใจจ่อรอวันแห่งการเดินทางที่จะมาถึง เมื่อผ่านขั้นตอนของการขออนุญาตเจ้าหน้าที่และฟิตซ้อมร่างกายเป็นอย่างดีแล้ว พวกเราทั้ง 9 คนก็แบกสัมภาระขึ้นหลัง มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อร่วมโปรแกรมการเดินป่าระยะไกล 5 วัน ในเย็นวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2545 สำหรับเรา นี่เป็นการกลับมาเยือนแม่วงก์เป็นครั้งที่สอง
เราไปถึงที่ทำการอุทยานฯ ค่อนข้างดึก ประมาณเที่ยงคืน อากาศเย็น หลังจากที่เราชำระค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน และได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่นำทางเป็นที่เรียบร้อย พวกเราต่างหลบเข้าเต็นท์ที่อุทยานฯ เตรียมไว้ให้ และหลับยาวเพื่อเก็บแรงเอาไว้เผชิญกับเส้นทางที่ท้าทายในวันรุ่งขึ้น
 |
เช้าวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. 2545 พวกเรา 9 คน กับเป้สัมภาระใบใหญ่ รวมตัวกันที่หน้าที่ทำการฯเพื่อรับฟังคำแนะนำจากตัวแทนของอุทยาน เราได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่นำทางชาวเขาอีกหนึ่งท่านและเพื่อนนักเดินทางอีก 6 คน ที่จะร่วมทางไปกับเรา ตัวแทนของอุทยานอธิบายลักษณะภูมิประเทศของผืนป่าแม่วงก์ และเส้นทางที่เราจะเดินผ่านรวมถึงการปฏิบัติตัวขณะที่อยู่ในป่า และท้ายที่สุด อวยพรให้พวกเราทั้ง 15 ชีวิตโชคดีและสนุกกับการเดินทาง นับว่าเป็นการต้อนรับที่อบอุ่นอยู่ไม่น้อย |
 |
คณะเดินทางของเราแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก (ที่เรียกว่าชุดแรกเพราะเดินนำ) คือเพื่อนๆ จาก มสธ. 6 คนกับ เจ้าหน้าที่ชาวเขาชื่อว่าลุงอภิวัฒน์ ส่วนชุดหลังคือชุดของพวกเรา 9 คนกับพี่โอ๋ (คุณอรรถพล ชุ่มชื่น) เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งที่มีอัธยาศัยดีมากและช่วยเหลือเราตลอดการเดินทาง ลุงอภิวัฒน์และพี่โอ๋นำพวกเราออกเดินจากที่ทำการอุทยานตอน 9 โมงเช้าผ่านเส้นทางรถแทรกเตอร์ที่เริ่มบุกเบิกสร้างทางรถให้แก่นักเดินป่าเพื่อช่วยย่นระยะในการเดินเท้าให้น้อยลงซัก 10 กม. แรกๆ เราเดินกันอย่างสบายๆไม่รีบ เพราะรู้ดีว่าหนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล |
 |
การฟิตซ้อมร่างกายเพื่อให้เคยชินกับการเดินไกลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง พอเครื่องเริ่มร้อนเราก็เดินเร็วขึ้น เป้บนหลังถ่วงน้ำหนักและสร้างความลำบากมาก เพราะเราเตรียมเสบียงกรังมาเต็มอัตราศึกเพื่อดำรงชีวิตให้รอดในป่า พูดถึงตรงนี้ การกะจำนวนของกินของใช้ที่แบกมาก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะครึ่งกิโลที่เพิ่มขึ้นมาโดยเปล่าประโยชน์อาจทำให้บ่าเราล้าได้โดยไม่จำเป็น เราเดิน เดิน เดินและเดินไปตามทางขึ้นและลง ชมทัศนียภาพ 2 ข้างทาง แวะถ่ายรูปวิวและบรรดาต้นไม้และต้นเห็ดหน้าตาแปลกๆ เมื่อเริ่มล้าเราก็พักจิบน้ำเป็นระยะ |
 |
 |
เราไม่ได้เตรียมน้ำกันมามากกว่าคนละ 1 ขวดเล็ก เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าน้ำที่นี่สมบูรณ์ มีให้ดื่มให้ดำผุดดำว่ายตลอดเส้นทาง และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อน้ำที่เตรียมมาเริ่มหมด ก็พอดีกับที่เราเดินลงเขาและพบธารน้ำขวางอยู่เบื้องหน้า แรกๆเราลงทุนถอดรองเท้าถุงเท้าเดินข้ามน้ำ เพราะยังติดนิสัยสะอาดจากเมืองกรุง ไม่อยากให้เท้าเปียกโดยไม่จำเป็น จนมาหลังๆเราก็เริ่มใส่รองเท้าลุยน้ำโดยไม่คิดมาก แรกๆเรานับจำนวนธารน้ำที่เราข้ามผ่าน แต่พอได้ซักธารที่ 7 เราก็เริ่มลืม เพราะธารน้ำมีมากเหลือเกิน ความเหนื่อยล้าทำให้เราละเลยกับสถิติ และรายละเอียดต่างๆที่ตั้งใจจะบันทึกไว้แต่แรก |
 |
 |
หลายคนบอกว่า การเดินทางในวันแรกนี้ต้องอาศัยความอดทนอย่างเดียว เพราะหนึ่งเป็นการเดินทางวันแรกที่กล้ามเนื้อขา และบ่าต้องสร้างความเคยชิน และสอง ระยะทางวันแรกนี้จะยาวเป็นพิเศษ เพราะเราต้องข้ามเขาถึง 5 ลูก พวกเราแวะพักกลางทางเพื่อทานมื้อกลางวันกันอย่างไม่เร่งรีบ กล้องถ่ายรูป และวีดีโอถูกนำขึ้นมาเก็บภาพความเฮฮาของชาวคณะระหว่างมื้อเที่ยง บรรยากาศรอบข้างเต็มไปด้วยความชุ่มชื้น แสงแดดที่น่าจะแผดเผาอยู่กลางศีรษะของเวลาเที่ยงวัน กลับไม่สามารถชอนไชผ่านกิ่งใบของต้นไม้หนาทึบ พวกเราต่างพอใจกับช่วงเวลาแรกของการเดินทาง |
|
หลังมื้อเที่ยง เราทั้ง 9 เดินฝ่าป่าดงไปตามเส้นทางที่พี่โอ๋นำเราไปอยู่ห่างๆ พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำบอกให้รู้ว่า เป็นเวลาบ่าย และเราต้องรีบเดินให้เร็วขึ้น เป้าหมายของวันนี้คือแค้มป์พักแรมที่คลองแม่กระสา และก่อนที่เรี่ยวแรงของวันนั้นจะหมดไป เราก็เดินลงหุบเขามาพบกับสะพานไม้ไผ่ที่ทอดข้ามลำน้ำใหญ่ ที่นี่เราได้ยินมาว่า นักเดินทางทริปแรกที่มาถึงเมื่ออาทิตย์ก่อนจะต้องทูลสัมภาระไว้บนหัว และลอยคอผ่านลำน้ำไปเพื่อตั้งแค้มป์ แต่สำหรับทริปของเรานั้นโชคดีกว่ามาก เพราะเจ้าหน้าที่ได้ทำสะพานไม้ไผ่อย่างง่ายๆไว้ให้เดินข้ามสบายๆ จากที่ทำการถึงคลองแม่กระสานี้ รวมระยะทางเดินวัดทางอากาศได้ 15 กม. (ระยะเดินจริงๆต้องยาวกว่ามาก เพราะต้องขึ้นเขาลงเขาอยู่หลายลูก) เรามาถึงริมคลองตอน 4 โมงเย็น ตามเวลาที่คาดไว้พอดิบพอดี |
 |
เมื่อเราข้ามไปถึงฝั่งตรงข้ามก็พบกับเพื่อนร่วมทางชุดแรกซึ่งจัดที่ทางสำหรับค้างแรมไว้ค่อนข้างเรียบร้อยแล้ว คณะเรา 9 คนจึงอาศัยลานที่ว่างถัดไปเพื่อกางเต็นท์ 1 หลังสำหรับสาวๆอย่างเรา ส่วนเพื่อนผู้ชายอีก 5 คนต่างหาต้นไม้คู่ใหญ่เพื่อเล็งทำเลผูกเปลนอน และในขณะที่พวกหนุ่มๆกำลังวุ่นวายอยู่กับการปูเต็นท์ขึงเปล บรรดาสาวๆนักนิยมไพรก็เตรียมตัวลงอาบน้ำในคลองแม่กระสานั่นเอง น้ำในคลองที่เย็นฉ่ำทำให้เรารู้สึกหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เมื่อเราจัดการชำระล้างร่างกายเสร็จก็ขึ้นมาช่วยเพื่อนๆเตรียมอาหาร บ้างหาไม้แห้งมาทำฟืน บ้างก็หุงข้าวต้มแกงด้วยหม้อสนาม (และมีบ้างเหมือนกันที่ร้องหายาถูยานวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เจ็บระบม) |
 |
 |
ในขณะที่พวกเรากำลังสนุกสนานอยู่กับการดำรงชีวิตแบบมือสมัครเล่นในป่า พี่โอ๋คนนำทางอารมณ์ดีของเรา ก็กลับมาพร้อมเห็ดโคนดอกใหญ่ถุงเบ้อเร่อเพื่อเอามาทำต้มยำ สร้างความตื่นเต้นให้กับคนเมืองอย่างเราไม่น้อยทีเดียว เพราะไม่นึกว่ามาไกลขนาดนี้จะมีโอกาสได้กินของหายากที่ราคาแสนแพงในตลาดบ้านเรา และเห็ดโคนมื้อนั้นไม่ใช่อาหารหรูมื้อเดียวของชาวคณะเราเสียด้วย |
ระหว่างทานข้าวเย็น พี่โอ๋บอกโปรแกรมสำหรับวันรุ่งขึ้น คือเราจะต้องออกเดินทางไปยังแค้มป์น้ำตกแม่รีวาและพักที่นั่นเป็นคืนที่สอง ระยะทางเดินโดยประมาณคือ 1 ชั่วโมง พวกเราจึงค่อนข้างเบาใจที่การผจญภัยในวันรุ่งขึ้นเป็นเพียงการซ้อมย่อยก่อนไปเจอของจริงระหว่างขึ้นยอดดอยโมโกจู เราจัดการกับเสบียงและเห็ดโคนตรงหน้า และแยกย้ายเข้านอน อากาศคืนแรกเย็นสบายกำลังดี
เช้าวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย. 2545 พวกเรามุ่งหน้าไปยังแค้มป์น้ำตกแม่รีวาที่ต้องเดินเท้าลึกเข้าไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ทางเดินในวันนี้ค่อนข้างสั้นและไม่มีภูเขาสูงๆให้ต้องปีนป่าย ตลอดเส้นทางเป็นป่าไผ่ที่ร่มรื่น พวกเราพบดงเห็ดโคนมากมาย และแต่ละต้นก็อวบหนาจนอดไม่ได้ที่จะคาดหวังถึงอาหารมื้อเย็นของเราในวันนั้น เรามาถึงแค้มป์แม่รีวาตอน 10 โมงกว่าๆ (ระยะทางสั้นและเดินสบายจริงๆ) เราจัดหาที่กางเต็นท์นอนกันอีกแต่ครั้งนี้ไม่ต้องเร่งให้ทันพระอาทิตย์ตกเพราะเวลามีเหลือเฟือ หลังจากทานมื้อกลางวัน พี่โอ๋ก็นำเราออกเดินไปชมน้ำตกแม่รีวาตามแผนที่วางไว้ |
 |
 |
ทางไปน้ำตกออกจะยาวกว่าทางที่เราเดินมาจากคลองแม่กระสา และยังมีเนินหินลื่นๆที่เราต้องบากบั่นข้ามกันตลอด โชคยังดีที่เราไม่ต้องแบกสัมภาระเพราะเราตั้งใจมาชมน้ำตก และก็กลับไปนอนที่แค้มป์เหมือนเดิม น้ำตกแม่รีวาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่เป็นลำดับสาม ในแม่วงก์แต่มีชื่อเสียงมากพอๆ กันกับน้ำตกแม่กี ซึ่งอยู่นอกเส้นทางขึ้นยอดโมโกจู กระแสน้ำแรงเอ่อทะลักมาจากซอกหินขนาดใหญ่ชั้นบน และผ่านร่องน้ำมาตกยังแอ่งกว้างชั้นล่างสุด |
 |
นอกจากนั้นความแรง และปริมาณที่มหาศาลของน้ำยังเซาะแก่งหินด้านล่าง จนเอ่อล้นรวมตัวไหลทอดเป็นทางยาวลงสู่พื้นที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วง เกิดเป็นลำน้ำขนาดย่อมที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ป่าโดยรอบ เพื่อนๆ ในคณะทนเสียงดังเสนาะของสายน้ำที่ร้องเรียกให้ลงไปแหวกว่ายกันไม่ได้อีกต่อไป ต่างถอดรองเท้าพับขากางเกงกระโจนลงสู่แอ่งน้ำใหญ่เย็นชื่นใจกันอย่างไม่มีใครรีรอ |
 |
บางส่วนของชาวเราอยู่บนบก เพื่อเก็บภาพความอลังการของน้ำตกที่ยิ่งใหญ่ไว้อวดคนที่มาไม่ถึง เล็งขึ้นไปบนจุดสูงสุดของน้ำตกตามที่สายตาของเรามองเห็น พบกับเพื่อนๆ มสธ.ที่เดินลัดเลาะเลยขึ้นไปบนแอ่งหินต้นน้ำด้านบนกำลังโบกไม้โบกมือลงมา ขณะที่เรายืนอยู่ด้านล่าง เราเห็นเพื่อนๆ ตัวโต 6 คนบนนั้นเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กๆ จึงทำให้เราคิดได้ว่า แท้จริงแล้วธรรมชาตินี้เองที่อยู่เหนือเรา ถ้าเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ มนุษย์เราที่แม้สามารถบันดาลอะไรได้สารพัดก็เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ของแวดล้อมบนโลกใบนี้เท่านั้น
 |
เมื่อเราดื่มด่ำกับสายน้ำของน้ำตกแม่รีวาจนฉ่ำใจแล้ว พี่โอ๋ก็นำเราเดินกลับมาตามเส้นทางเดิมสู่แค้มป์พักแรม ตอนกลางคืนอากาศเริ่มเย็นขึ้นกว่าคืนก่อน และมียุงชุม แต่ในตอนนี้ ยุงไม่ใช่คู่ปรับของคณะเดินทางอีกต่อไป ตัวคุ่นเป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่เราเตรียมพร้อมมาเจอ ในสภาพป่าทึบเช่นนี้มีตัวคุ่นอยู่มาก พวกมันกัดเจ็บและมักทิ้งรอยแผลเป็นรูเลือดเล็กๆ แสบๆ คันๆ ให้พวกเรารำคาญใจได้ตลอดการเดินทาง บางรายถ้าแพ้มากจะเป็นแผลบวม และทิ้งรอยดำไว้ให้ดูต่างหน้าไปอีกนาน |
วันที่สามของการเดินทาง พวกเราตื่นเช้าเป็นพิเศษ เพราะต้องเตรียมอาหารสำหรับมื้อกลางวันระหว่างทาง วันนี้พวกเราทั้ง 15 คน จะเดินยาวจากแค้มป์แม่รีวาจนถึงตีนเขาหรือดอยที่ใกล้ทางขึ้นยอดโมโกจูมากที่สุด สภาพเส้นทางตั้งแต่ออกเดินเป็นทางลาดชัน ร้อยละ 80 ถึง 90 เป็นทางขึ้นเขาสลับกับพื้นที่ราบเพียงน้อยนิด ครึ่งวันเช้าคณะเดินทางจะต้องบากบั่นต่อสู้กับความลาดเอียงประมาณ 60 องศา ของทางเดินแคบๆ ที่ไม่มีกิ่งไม้แผ่ปกคลุม บางส่วนเป็นแนวไหล่เขาที่ต้องอาศัยความระมัดระวังในการเดินอย่างมาก |
 |
 |
เป้สัมภาระบนหลังพร้อมกับน้ำดื่มที่ตระเตรียมกันมาพอสมควร (เพราะระหว่างทางไม่มีแหล่งน้ำ) ถ่วงบ่าและเอวทำให้เกิดความยากลำบากเวลาเหยียบแง่งหินแต่ละแง่งเพื่อโหนตัวขึ้นไป ความร้อนของแดดตอนสายเกือบใกล้เที่ยงทำให้เราผลาญน้ำดื่มกันอย่างไม่ทันระวังตัว ผงเกลือแร่ก็ถูกงัดกันออกมาผสมน้ำดื่มกินกันอย่างหิวกระหาย เพื่อนเราบางคนถึงกับออกอาการหน้ามืดเป็นลมเพราะอากาศร้อน และสภาพการเดินป่าที่โหดร้าย เรากังวลกันเหลือเกินว่าวันนี้จะไปไม่ถึงที่หมาย มีเพื่อนคนหนึ่งในชุดแรกบาดเจ็บที่หัวเข่าจนต้องหยุดพักเพื่อตัดสินใจว่าจะไปต่อดีหรือไม่ |
และในที่สุดเมื่อมองจากระยะทางที่ยังอีกไกลโข และในวันพรุ่งนี้ที่ยังมียอดโมโกจูที่สูงและชันยิ่งกว่าต้องพิชิต เพื่อนร่วมทางผู้โชคร้ายคนนั้นก็ต้องจำใจล้มเลิกการเดินทางโดยมีเพื่อนอีกคนเดินประคองกลับแค้มป์ที่พักที่จากมา พี่โอ๋เจ้าหน้าที่นำทางผู้เอื้ออารีก็จำต้องนำนักเดินทางกลับที่พัก และปล่อยให้ลุงอภิวัฒน์นำพวกเราขึ้นสู่ยอดดอยเพียงลำพัง เมื่อเราทราบเช่นนั้น ความเหนื่อยล้าจนเกือบท้อใจกลับกลายเป็นแรงฮึดสู้ รู้แต่ว่าเรามีโอกาสดีกว่าเพื่อนคนนั้นเพราะเราไม่บาดเจ็บ เราและเพื่อนๆอีก 8 คนแข็งใจแบกสัมภาระพร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพที่หนักอึ้ง ฉุดกระชากลากกันจากเนินดินหนึ่งสู่อีกเนินหนึ่ง มิตรภาพบนทางชันก่อกำเนิดขึ้นโดยไม่มีใครรู้ตัว ไม่เคยมีซักครั้งที่เราจะหยุดพักเหนื่อยกันเกินนาที เราเร่งทำเวลากันสุดใจเพราะไม่อยากให้ตะวันตกดินก่อนถึงที่หมาย เพราะนั่นหมายถึงความลำบาก และอันตรายที่ต้องมีมากขึ้น
ตกบ่ายสองโมงกว่าๆ เราเดินตัดหุบเขามาจนเห็นยอดเขาสุดท้ายอันเป็นที่หมายของเราอยู่ไกลๆ ตามที่เราศึกษารายละเอียดมา ก่อนเวลาบ่ายสามโมงของวันที่สามนี้เราจะต้องมองเห็นยอดโมโกจูแล้ว ไม่เช่นนั้นเราจะไปถึงตีนดอยค่ำเกินไป ในตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเพื่อนๆร่วมทางของเรารู้สึกอย่างไรที่เห็นยอดเขาสูงคอยอยู่เบื้องหน้า แต่สำหรับเราช่วงเวลานั้นคือจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ จึงพาลทำให้เราจินตนาการเห็นยอดของโมโกจูหรือก้อนหินรูปเรือใบตั้งตระหง่านอยู่บนเขาสูงลูกนั้น แต่เพียงวูบเดียวไม่ทันที่ช่างภาพจะวางขาตั้งกล้อง ยอดดอยสูงก็ถูกบดบังด้วยกลุ่มเมฆหมอกหนาที่ม้วนตลบมาบดบังทิศทาง เราต่างทยอยออกเดินหน้ากันต่อไป |
 |
 |
เกือบหกโมงเย็นที่เรามาถึงแค้มป์ที่พักตีนดอย ลุงอภิวัฒน์ก่อกองไฟคอยท่าเราอยู่ก่อนแล้ว แกนำเรามาห่างๆเพราะเส้นทางเดินนั้นมีร่องรอยมนุษย์เหยียบย่ำพงหญ้าและดงหนามค่อนข้างชัดเจน โดยรอบบริเวณก่อนที่จะลงเขามาเจอแค้มป์นี้ก็เป็นป่ารกและมีความชื้นสูง แน่นอนว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงฝูงทากเกลอเก่าจอมสูบเลือดได้ แต่ไม่มีใครในคณะเราที่กังวลใจกับแผลดูดเลือดของทากและคุ่นเลย ความอ่อนเพลียและความหนาวเย็นของป่าดิบทำให้เราแค่อยากหาที่ผิงไฟและซุกตัวนอน การหุงหาอาหารเย็นของเราในคืนนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่งเพราะกิ่งไม้ใบไม้ที่จะนำมาทำฟืนนั้นเปียกละอองหมอก |
โชคยังดีที่เราอดทนแบกแก๊สหุงต้มเล็กๆ ขึ้นไปด้วย แต่พอไม่มีกองไฟใหญ่ คืนนั้นจึงกลายเป็นคืนแห่งการหลับนอนที่แสนจะยาวนาน และทรมานที่สุด พวกเราที่อยู่ในเต็นท์ออกจะเห็นใจเพื่อนๆ ที่นอนเปลสู้กับความหนาวเหน็บกันอยู่ด้านนอก
เช้าตรู่ของวันที่ 12 พ.ย. เพื่อนคนหนึ่งในคณะของเราก็มาปลุก ฟ้ายังคงมืดสนิทเพราะเป็นเวลาแค่ตีสี่กว่าๆ วันนี้เราจะพิชิตยอดโมโกจู ซึ่งเพื่อนๆ 4 คนจาก มสธ. ได้บากบั่นขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกดินมาเมื่อเย็นวาน (เนื่องจากทีมนี้เคยมาแล้วและตั้งใจมาครั้งนี้เพื่อชมพระอาทิตย์ตอนเย็นบนยอดเขา) กว่าเราทั้ง 9 คนจะพร้อมก็ปาเข้าไปตีห้า ลุงอภิวัฒน์เดินนำหน้าเราไปไกลโขแล้ว แต่แกส่องไฟบอกทิศทางเราเป็นระยะ เส้นทางขึ้นดอยนี้ถือเป็นสุดยอดแห่งการเดินทางก็ว่าได้ อากาศช่างหนาวเย็นและหนทางก็มืดมิดจนแทบมองเท้าตัวเองไม่เห็น เราทั้ง 9 คนเดินเกาะกลุ่มกันไปติดๆโดยมีไฟฉายส่องทางเพียง 3 อัน |
 |
ด้วยความเป็นห่วงเพื่อนทำให้เราแต่ละคนคอยส่งเสียงบอกคนข้างหลังว่า จะต้องระวังซ้ายระวังขวา พื้นที่ลาดชัน และลื่นไถลทำให้พวกเราต้องใช้มือสองข้างตะกุยดินกันขึ้นไป บ้างก็เหนี่ยวคว้าต้นหญ้าสูงๆที่ขึ้นรอบบริเวณไว้เพื่อใช้เป็นหลักยึด กว่าเราจะมองเห็นหลังคนข้างหน้าได้ก็ตอนหกโมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่เราขึ้นมาพ้นแนวป่าทึบ อากาศที่หนาวเย็นขึ้น และน้ำค้างที่ตกลงมามากจนเหมือนจะเป็นฝนบอกให้รู้ว่าเราใกล้จะถึงยอดเต็มที และเมื่อเราโผล่พ้นเนินดินสุดท้ายออกสู่ที่โล่งบนพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,900 เมตร เราก็สูดอากาศยามเช้าที่ใกล้ยอดโมโกจูเข้าเต็มปอด
 |
ณ ที่โล่งแห่งนั้นยังไม่ใช่จุดสูงสุดแห่งเส้นทาง เนินเขาที่เรากำลังยืนอยู่นี้เหมือนเนินน้อง เพราะก้อนหินทรงประหลาดนั้นกลับตั้งเด่นอยู่บนยอดของเนินพี่ที่เชื่อมต่อกันโดยพื้นที่เขาแคบๆ สองข้างเขาคือเหว (เพื่อนบอกว่าลักษณะพื้นที่แบบนี้เรียกว่า "กิ่ว" ) เราต้องเดินผ่านความน่าหวาดเสียวสุดยอดของกิ่วนี้ไปอีกประมาณ 200 เมตรเพื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดของผืนป่าตะวันตก |
และแล้ว ประมาณเจ็ดโมงเช้าของวันที่ 12 พ.ย. พวกเราทั้ง 9 ก็ได้ชมความน่าพิศวงของก้อนหินรูปเรือใบ จุดสูงสุดแห่งการผจญภัยในหลายวันที่ผ่านมา บรรดาช่างภาพต่างไม่รอช้าชักภาพเราแต่ละคนกับก้อนหินสง่า เรามีเบื้องหลังเป็นความนุ่มละมุนงดงามของทะเลหมอกและแสงสว่างแรกแห่งวันนั้น ความตื่นเต้นดีใจทำให้เราหายเหนื่อยและลืมความยากลำบากที่ผ่านมาได้อีกหน และเราเชื่อว่า ในนาทีนี้ พวกเราทุกคนต้องแอบรู้สึกภูมิใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตมีโอกาสได้ประจักษ์แก่สายตาตัวเอง ถึงความยิ่งใหญ่อลังการของผืนป่าธรรมชาติแห่งเมืองไทยที่เราได้มองลงไปจากพื้นที่สูงลิบลิ่ว ณ ที่ที่เรายืนอยู่...ณ ยอดโมโกจู
ที่ซึ่งในชีวิตนี้มีน้อยคนนักจะสามารถปีนป่ายขึ้นมาถึง |
 |
 |
ลุงอภิวัฒน์บอกว่าเรามีเวลาอยู่ยลโฉมธรรมชาติเบื้องบนอยู่แค่ชั่วโมงเดียว เพราะเราต้องรีบลงมาเก็บข้าวของเพื่อเดินทางกลับ บนยอดสูงนั้นถ้าทุกคนยังจำได้เราไม่ได้มีคำพูดอะไรมากมาย แต่เราแอบมองหน้าเพื่อนๆ ที่ร่วมเผชิญความยากลำบากมาด้วยกัน และเข้าใจว่าถ้ามีโอกาสแต่ละคนต้องอยากมานั่งมองพระอาทิตย์บนยอดโมโกจูนี้ด้วยกันอีก
เราอดมีคำถามในใจไม่ได้ว่าพระอาทิตย์ยามเย็นบนโมโกจูนี้จะวิเศษเพียงใด วันหนึ่งวันใดในช่วงปลายปีหน้าที่แม่วงก์เปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เราจะกลับมาค้นหา แต่ปีนี้เราอยากปล่อยให้โอกาสเป็นของเพื่อนๆ ที่รักการเดินทางเที่ยวธรรมชาติคนอื่นๆได้ขึ้นมาร่วมรับรู้ความประทับใจแบบพวกเราทั้ง 9 คนบ้าง |
ข้อมูลเพิ่มเติม เขาโมโกจู ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอยู่ในพื้นที่ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
การเดินทาง เริ่มจาก จ.กำแพงเพชร ใช้เส้นทาง กำแพงเชร - นครสวรรค์ (ทางหลวงหมายเข 1) ถึง กม.ที่ 338 ให้เลี้ยวขวา ไปทาง อ.คลองลาน (ทางหลวงหมายเข 1117) ขับตรงไปเรื่อยๆ ถึง กม.ที่ 65 ใช้เส้นทางคลองลาน - อุ้มผาง ต่อไปอีกประมาณ 15 กม.
ติดต่ออุทยานแห่งชาติแม่วงก์ : โทร. 0 - 5571 - 9010 - 1 |
ชมภาพเพิ่มเติม