พระพุทธรูปบูชาประจำวันเกิด พร้อมคาถาบูชา
พระพุทธรูปในบ้าน นอกจากจะนิยมบูชาในเชิงพระประธาน กล่าวคือ ไม่เจาะจงปางแล้วยังนิยมบูชาเป็นพระประจำวันเกิด โดยยึดบูชาปางต่างๆตามวันเกิดของผู้บูชาอีกด้วย
พระพุทธรูปปางต่างๆ ส่วนใหญ่ได้จำลองจากอิริยาบทภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ต่อมาก็ได้จำลองเป็นพระปางต่างๆ แล้วจัดเป็นพระประจำวันเกิด
การบูชาพระพุทธรูปประจำวันเกิดก็คล้ายๆกับพระพุทธรูปประธานประจำบ้าน การตั้งที่บูชาเตรียมเครื่องสักการะเหมือนกัน เพียงแต่เพิ่มบทสวดต่างหากออกไป
ในส่วนของการบูชาพระประจำวันเกิด ได้รวบรวมข้อมูลหลักมาจาก 2 ที่ กล่าวคือ ในส่วนของตำนานได้คัดต่อจากหนังสือพิธีกรรมและประเพณี ซึ่งรวบรวมโดยอาจารย์แปลก สนธิรักษ์ ฉบับพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระภัทรศีลสังวร (ไสว ถาวโร) วัดโสมนัสวิหาร กทม. และในส่วนของพุทธลักษณะและคาถาสวด ได้คัดต่อจากหนังสือพระศรีอารีย์กับท้าวมหาพรหมมาโปรด ซึ่งเขียนโดยอาจารย์ชุม ไชยคีรี
พระพุทธรูปปางถวายเนตร
พระบูชาของคนเกิดวันอาทิตย์
พระพุทธลักษณะ
มีพระอาการประทับยืน พระกรทั้งสองข้างปล่อยลง พระหัตถ์ทั้งสองคว่ำไขว้กันที่พระเพลา โดยมีพระหัตถ์ขวาไขว้ทับพระหัตถ์ซ้าย ทรงลืมพระเนตรไม่กะพริบ
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลคยาสีสะ ประเทศมคธ ในสมัยนั้น ซึ่งคือ พุทธคยาในปัจจุบัน เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงเปลี่ยนพระอริยาบท ประทับยืนเพ่งพระเนตร ไปยังพระโพธิบัลลังก์ ตลอดระยะเวลาเจ็ดวัน
พระคาถาบูชา
ผู้เกิดวันอาทิตย์ ท่านให้สวดมนต์บูชาพระพุทธรูปปางถวายเนตรให้เต็มกำลัง 6 จบ เวลาสวดมนต์ให้หันหน้าไปทางทิศอีสาน ให้สวดโมรปริตรดังนี้
"อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทะเวสัง เย พราหมณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยัยตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนาฯ
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโร ปะฐะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณรัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง เย พราหมณาเวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปหะยีติฯ"
หรือจะใช้สวดด้วยหัวใจพระคาถาโดยย่อดังต่อไปนี้ก็ได้ โดยสวดให้เต็มกำลัง 6 จบ เช่นเดียวกัน
" อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา "
พระพุทธรูปปางห้ามญาติ
พระบูชาของคนเกิดวันจันทร์
พระพุทธลักษณะ
มีพระอาการประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายและพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ แบพระหัตถ์ไปข้างหน้า
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากพุทธประวัติตอนหนึ่ง เป็นเหตุการณ์หลังจากที่ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว มีอยู่สมัยหนึ่งพระกษัตริย์แห่งโกลิยะวงศ์ ซึ่งเป็นพระประยุรญาติ ทางฝ่ายพระพุทธมารดา กับพวกกษัตริย์แห่งศากยวงศ์ ซึ่งเป็นพระประยูรญาติ ทางฝ่ายพระพุทธบิดา ต่างแย่งน้ำกัน โดยต่างฝ่ายต่างก็ให้ทดน้ำจากแม่น้ำโรหิณีเข้านาของฝ่ายตน เนื่องจากปีนั้นฝนน้อย น้ำไม่พอทำนา เกิดการวิวาทกันขึ้นจนถึงขึ้นใกล้จะทำสงครามกัน พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ จึงได้ทรงเสด็จไป ณ ที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน และตรัสถามว่าวิวาทกันด้วยเรื่องอะไร ทั้งสองฝ่ายทูลตอบว่า วิวาทกันเรื่องน้ำ พระองค์จึงตรัสถามต่อไปว่า น้ำกับกษัตริย์ อย่างไหนสำคัญและจะมีค่ามากกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายก็ทูลตอบว่า กษัตริย์สำคัญ และมีค่ามากกว่า พระพุทธองค์จึงได้เทศนาให้ทั้งสองฝ่ายฟัง เหตุการณ์จึงสงบลงได้ด้วยดี
พระคาถาบูชา
ผู้เกิดวันจันทร์ ท่านให้สวดมนต์บูชาพระพุทธรูปห้ามสมุทรให้เต็มกำลัง 15 จบ เวลาสวดมนต์ให้หันหน้าไปทางทิศบูรพา ให้สวดพระปริตร บทยันทุน ดังนี้
"ยันทุนนิมิตตัง อะวะมะคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง
พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง
ธัมมานุภาเวนะ วินาสะเมนตุฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง
สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุญ"
หรือจะใช้สวดด้วยพระคาถาโดยย่อดังต่อไปนี้ก็ได้ โดยสวดให้เต็มกำลัง 15 จบ เช่นเดียวกัน
"ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง"
พระพุทธรูปปางไสยาสน์
พระบูชาของคนเกิดวันอังคาร
พระพุทธลักษณะ
มีพระอาการในท่าทรงไสยาสน์ ทอดพระกายตะแคงทางด้านขวา พระกรขวาตั้งพระหัตถ์รองรับพระเศียร พระกรซ้ายวางทอดไปตามพระกาย พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา หลับพระเนตร เรียกว่า ท่าสีหไสยาสน์
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากพระพุทธประวัติตอนที่ พระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ใต้ควงไม้รัง เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือนหก ดวงจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ พระพุทธองค์ทรงประทับนอนในอิริยาบทนี้
พระคาถาบูชา
ผู้เกิดวันอังคาร ท่านให้สวดมนต์บูชาพระพุทธรูปปางไสยาสน์ให้เต็มกำลัง 8 จบ เวลาสวดมนต์ให้กันไปทางทิศอาคเนย์ ให้สวดบทขัดกรณีเมตตสูตร ดังนี้
"ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตัน ทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะเหฯ"
หรือหจะใช้สวดด้วยหัวใจพระคาถาโดยย่อดังต่อไปนี้ก็ได้ โดยสวดให้เต็มกำลัง 8 จบเช่นเดียวกัน
" ปิ สัม ระโล ปุ สัต พุท"
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร
พระบูชาของคนเกิดวันพุธ (กลางวัน)
พระพุทธลักษณะ
มีพระอาการประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองทรงอุ้มบาตร โดยมีพระหัตถ์ทั้งสองรองรับบาตร
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากพุทธประวัติ ที่พระพุทธองค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์ จำนวนมากได้เสด็จออกบิณฑบาตที่กรุงกบิลพัสดุ์ ตามที่อำมาตย์กาฬุทายุได้ขออาราธนา พระพุทธองค์ได้ทรงทอดเนตรบรรดาพระประยูรญาติ ยังมีทิฐิมานะ ไม่เคารพพระองค์ และพระสงฆ์ พระพุทธองค์จึงได้แสดงปาฎิหารย์ บันดาลให้เกิดฝนโบกขรพรรษตกลงมา ท่ามกลางพระประยูรยาติ ฝนโบกขรพรรษนี้ผู้ใดอยากให้เปียก ก็จะเปียก ถ้าไม่อยากให้เปียก ก็จะไม่เปียก ดุจน้ำฝนตกลงในใบบัว ทำให้พระประยูรญาติทั้งหลายคลายทิฐิมานะ จากนั้นพระพุทธองค์จึงแสดงเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก
พระคาถาบูชา
ผู้เกิดวันพุธ กลางวัน ท่านให้สวดบูชาพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรให้เต็มกำลัง 17 จบ เวลาสวดให้หันหน้าไปทางทิศทักษิณ ให้สวดบทขัดขันธปริตตคาถา ดังนี้
"สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเหฯ
หรือจะใช้สวดด้วยหัวใจพระคาถาโดยย่อดังต่อไปนี้ก็ได้ โดยสวดให้เต็มกำลัง 17 จบ เช่นเดียวกัน
" โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ "
พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์
พระบูชาของคนเกิดวันพุธ (กลางคืน)
พระพุทธลักษณะ
มีพระอาการประทับนั่งทอดพระบาท พระกรซ้ายทอดลง ทรงคว่ำพระหัตถ์ซ้ายวางลงบนพระชานุซ้าย พระกรขวาทอดทรงหงายพระหัตถ์ขวาบนพระชานุขวา
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์ในพุทธกาล ตอนที่พระพุทธองค์ เสด็จหลีกออกมาจากพระสงฆ์สาวก ณ เมืองโกสัมพี ที่ก่อการวิวาทกันด้วยเรื่อง เล็กน้อย แม้พระพุทธองค์จะได้ทรงตรัสห้ามถึงสามครั้ง พระสงฆ์เหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง พระพุทธองค์จึงเสด็จหลีกไปจำพรรษาอยู่ที่ป่ารักขิตวัน มีช้างปาลิไลยกะมาอยู่คอยปฏิบัติ และมีลิงเอารวงผึ้งมาถวาย เมื่อชาวเมืองโกสัมพีทราบเหตุจึงพากันไม่ถวาย ภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ที่ก่อการวิวาทดังกล่าว หลังจากออกพรรษาแล้ว ชาวเมืองโกสัมพี จึงได้นิมนต์ให้พระอานนท์ ไปอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกลับเข้าเมืองโกสัมพี ช้างปาลิไลยกะตามพระพุทธองค์ออกมาด้วย แต่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามไว้เมื่อพ้นเขตป่า
พระคาถาบูชา
ผู้เกิดวันพุธ กลางคืน ท่านให้สวดบูชาพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ให้เต็มกำลัง 12 จบ เวลาสวดมนต์ให้หันหน้าไปทางทิศพายัพ ให้สวดบทสุริยปริตร ดังนี้
"กินนุ สันตะระมาโน วะ ราหุจันทัง ปะมุญจะสิ สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต วะ ติฏฐะสีติ สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ พุทธะคาถาภิคีโตมหิ โน เจ มุญเจยยะ จันทิมันติฯ
กินนุ สันตะระมาโน วะ ราหุสิริยัง ปะมุญจะสิ สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต วะ ติฏฐะสีติ สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ พุทธะคาถาภิคีโตมหิ โน เจ มุญเจยยะ สิริยันติฯ"
หรือจะใช้สวดด้วยหัวใจพระคาถาโดยย่อดังต่อไปนี้ โดยสวดให้เต็มกำลัง 12 จบ เช่นเดียวกัน
" วา โธ โน อะ มะ มะ วา "
พระพุทธรูปปางสมาธิ
พระบูชาของคนเกิดวันพฤหัสบดี
พระพุทธลักษณะ
มีพระอาการนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองหงายประสานกัน วางอยู่บนพระเพลา
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากการบำเพ็ญเพียรทางจิตของเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เพื่อความหลุดพ้นแห่งอาสวะ อันนำไปสู่ความสิ้นสุดแห่งวัฎสงสาร จนได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมสัมพุทธเจ้าในโลก ที่ใต้ควงไม้โพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลคยาสีสะ ประเทศมคธ ในสมัยนั้น ปัจจุบันคือ พุทธคยาในประเทศอินเดีย ณ วันเพ็ญเดือนหก ที่เราเรียกว่า วันวิสาขบูชา ในปัจจุบัน การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้ มีกระบวนการโดยย่อดังนี้ คือ ในปฐมยามแห่งราตรีนั้น พระองค์ทรงนั่งสมาธิบัลลังก์ ด้วยลักษณะอาการ ดังกล่าวข้างต้น แล้วบำเพ็ญเพียรทางจิต ตามหลักของสัมมาสมาธิ เริ่มต้นด้วยการ ละนิวรณ์ ๕ อันทำให้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม จนบรรลุฌาณที่ ๑,๒,๓ และ ๔ ตามลำดับ จนจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน จากนั้นได้น้อมใจไปสู่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก จนนับประมาณมิได้ เป็นการบรรลุวิชชาที่หนึ่ง ได้ความรู้แจ้งชัดในวัฎสงสาร คือ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์นั้นมีจริง ต่อมาในมัชฌิมยาม ด้วยสภาพจิตเช่นเดิม พระองค์ได้น้อมจิตไปสู่จุตูปปาตญาณ ทรงรู้ชัดถึงสัตว์ผู้กระทำกรรมอย่างใดไว้ จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น เป็นการบรรลุวิชชาที่สอง ได้ความรู้แจ้งชัดในเรื่องของกรรมว่ามีอยู่จริง ต่อมาในปัจฉิมยาม ด้วยสภาพจิตเช่นเดิม พระองค์ได้น้อมจิตไปสู่อาสวขยญาณ ทรงรู้ชัดถึงอริยสัจสี่ และความหยั่งรู้ในธรรม อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ เป็นการบรรลุวิชชาที่สาม อันเป็นวิชชาที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา
พระคาถาบูชา
ผู้เกิดวันพฤหัสบดี ท่านให้สวดบูชาพระพุทธรูปปางสมาธิให้เต็มกำลัง 19 จบ เวลาสวดมนต์ให้หันหน้าไปทางทิศประจิม ให้สวดบทขัดวัฏฏกปริตร ดังนี้
"ปุเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง วัฏฏะชาติยัง ยัสสะ เตชะนะ ทาวัคคี มหาสัตตัง วิวัชชะยิ เถรัสสะ สารีปุตตัสสะ โลกะนาเถนะ ภาสิตัง กัปปัฏฐายิ มะหาเตชัง ปะริตตัน ตัมภะณามะเหฯ"
หรือจะใช้สวดด้วยหัวใจพระคาถาโดยย่อดังต่อไปนี้ก็ได้ โดยสวดให้เต็มกำลัง 19 จบ เช่นเดียวกัน
" คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ "
พระพุทธรูปปางรำพึง
พระบูชาของคนเกิดวันศุกร์
พระพุทธลักษณะ
มีพระอาการประทับยืน พระหัตถ์ทั้งคว่ำฝ่าพระห้ตถ์ทั้งสองเข้าหาพระกาย พระหัตถ์ขวาไขว้ทับบนพระหัตถ์ซ้าย
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จ พระราชดำเนินเปลี่ยนพระอิริยาบถ พักผ่อนอยู่ภายใต้ร่มไม้อชบาลนิโครธ ทรงรำพึงถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ ว่าเป็นธรรมที่สุขุมลึกซึ้ง ยากที่คนทั่วไปจะรู้ตามได้ แต่เมื่อทรงคำนึงถึงคนสามประเภท อันเปรียบได้กับดอกบัวสามชนิด คือ พวกที่อยู่เหนือน้ำ เป็นพวกที่มีสติปัญญา จะเข้าใจหลักธรรมได้โดยฉับพลัน พวกอยู่เสมอน้ำ สามารถเข้าใจหลักธรรมได้ โดยอธิบายขยายความโดยพิสดารออกไป พวกที่อยู่ใต้น้ำ เป็นพวกที่พอแนะนำได้ด้วยการแนะนำฝึกสอนอบรม เมื่อคำนึงได้ดังนี้ จึงตกลงพระทัยที่จะเผยแพร่พระธรรม ทรงระลึกถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ว่าเป็นบุคคลที่ควรไปโปรดก่อน แต่ก็ทราบว่าทั้งสองท่านได้ตายไปแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ที่เคยติดตามพระองค์มาสมัยที่ออกทรงผนวช พระองค์จึงเสด็จไปโปรด ได้แสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนา ณ ป่าอิติปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี จบพระธรรมเทศนา โกณทัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม
พระคาถาบูชา
ผู้เกิดวันศุกร์ ท่านให้สวดบูชาพระพุทธรูปปางรำพึงให้เต็มกำลัง 21 จบ เวลาสวดให้หันหน้าไปทางทิศพายัพ ให้สวดบทขัดพระปริตร ยัสสกนุสสะระเณนาปิฯ ดังนี้
"ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเขปิ ปาณิโน ปะติฏฐะมะธิคัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิสัมภะวา คะณะนา นะ จะ มุตตานัง ปะริตตัน ตัมภะณามะ เหฯ"
หรือจะใช้สวดด้วยหัวใจพระคาถาโดยย่อดังต่อไปนี้ก็ได้ โดยสวดให้เต็มกำลัง 21 จบ เช่นเดียวกัน
" อะ วิช สุ นุต นุส ติ "
พระพุทธรูปปางนาคปรก
พระบูชาของคนเกิดวันเสาร์
พระพุทธลักษณะ
มีพระอาการประทับนั่งขัดสมาธิ ประหัตถ์ทั้งสองหงายวางซ้อนกันบนพระเพลา มีพระยานาคตัวเดียว 7 เศียร แผ่พังพานอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้าเป็นการบังฝน
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์หลังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข ณ สถานที่ต่าง ๆ ด้วยพระอิริยาบทต่าง ๆ แห่งละเจ็ดวัน ในห้วงเวลาที่ประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) และเข้าฌาณอยู่ ได้เกิดพายุฝนตกหนัก พญานาคที่อาศัยอยู่ในสระมุจลินทร์ข้างต้นจิต จึงได้ทำขนดล้อมพระวรกายของ พระพุทธองค์ แล้วแผ่พังพานปกคลุมพระองค์ไว้จากลมและฝน
พระคาถาบูชา
ผู้เกิดวันเสาร์ ท่านให้สวดบูชาพระพุทธรูปปางนาคปรกให้เต็มกำลัง 10 จบ เวลาสวดให้หันหน้าไปทางทิศหรดี สวดอังคุลิมาลปริตร ดังนี้
"ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะฯ"
หรือจะใช้สวดด้วยหัวใจพระคาถาโดยย่อดังต่อไปนี้ก็ได้ โดยสวดให้เต็มกำลัง 10 จบ เช่นเดียวกัน
" ภะ สัม สัม วิ สะ เห ภะ "